ห้องสมุดประชาชน "เฉลิมราชกุมารี" อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี ยินดีต้อนรับ

วันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553





ห้องสมุดประชาน "เฉลิมราชกุมารี"


ความหมาย ห้องสมุดประชาชน "เฉลิมราชกุมารี "เป็นห้องสมุดประชาชนจังหวัด หรือ ห้องสมุด ประชาชนอำเภอ ที่กระทรวงศึกษาธิการโดยกรมการศึกษานอกโรงเรียนได้รับมติจาก ค.ร.ม. เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2534 ให้จัดสร้างเนื่องในวโรกาส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 36 พรรษา



ประวัติความเป็นมา

กรมการศึกษานอกโรงเรียนได้พิจารณาเห็นว่าเพื่อสนองพระราชปณิธานและแนวทางพระราชดำริในการส่งเสริมการศึกษา สำหรับประชาชนตามที่ทรงแสดงไว้ในโอกาสต่าง ๆ เช่น ในโอกาสที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จเป็นองค์ประธานในการประชุม สมัชชาสากลว่าด้วยการศึกษาผู้ใหญ่ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2533 ได้ทรงพระราชทานลายพระหัตถ์เชิญชวนให้


"ร่วมกันทำให้ชาวโลกอ่านออกเขียนได้"
และในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง "ห้องสมุดในทัศนะของข้าพเจ้า" ด้ทรงกล่าวว่า ความรู้ของมนุษย์เป็นมกรดกตกทอดกัน มาแต่โบราณเมื่อมีการประดิษฐ์คิดค้นอักษรขึ้นผู้มีความรู้ก็ได้บันทึกความรู้ของตน สิ่งที่ตนค้นพบเป็นการจารึก หรือเป็นหนังสือทำให้ บุคคลอื่นในสมัยเดียวกัน หรืออนุชนรุ่นหลัง ได้มีโอกาสศึกษาทราบถึง เรื่องนั้น ๆ และได้ใช้ความรู้เก่า ๆ เป็นพื้นฐานที่จะหาประสบการณ์ คิดค้นสิ่งใหม่ ๆที่เป็นความก้าวหน้าเป็นความเจริญสืบ ต่อไป

ห้องสมุดเป็นสถานที่เก็บเอกสารต่าง ๆ อันเป็นแหล่งความรู้ดังกล่าวแล้ว จึงเรียกได้ว่าเป็นครูเป็นผู้ชี้นำให้เรามีปัญญา วิเคราะห์ วิจารณ์ให้รู้สิ่งควรรู้อันชอบด้วยเหตุผลได้

ข้าพเจ้าอยากให้เรามีห้องสมุดที่ดี มีหนังสือครบทุกประเภทสำหรับประชาชน หนังสือประเภทที่ข้าพเจ้าคิดว่า สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือ หนังสือสำหรับเด็ก วัยเด็กเป็นวัยเรียนรู้ เด็ก ๆ ส่วนใหญ่สนใจจะทราบเรื่องราวต่าง ๆ แปลก ๆ ใหม่ ๆ อยู่แล้ว ถ้าเรามีหนังสือที่มีคุณค่าทั้งเนื้อทั้งเนื้อหา และรูปภาพให้เขาอ่าน ให้ความรู้ความบันเทิง เด็ก ๆ จะได้เติบโตขึ้นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ที่รอบรู้ มี ธรรมะประจำใจ มีความรักบ้างเมือง มีความต้องการปรารถนาจะทำแต่ประโยชน์ที่สมควร

กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตดำเนินโครงการจัดตั้งห้องสมุดประชาชน ซึ่งได้รับพระราชทานนามว่า ห้องสมุดประชาชน "เฉลิมราชกุมารี"

โดยจะเริ่มก่อสร้างห้องสมุดรุ่นแรกจำนวน 37 แห่ง เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ใน วโรกาสที่พระชนมายุ 36 พรรษา ในปี 2534 และจะวางแผนดำเนินการจัดตั้งอย่างต่อเนื่องจนครบทุกอำเภอภายในระยะ เวลา 10 ปี ระหว่างปี 2534 - 2543 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้เป็นทศวรรษแห่งการส่งเสริมการรู้หนังสือ

ห้องสมุดประชาชนแต่ละแห่งจะสร้างขึ้นด้วยความร่วมมือของประชาชนในท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จากความ จงรักภักดี และความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อพร้อมใจน้อมเกล้าฯ ถวายเพื่อ สนองพระราชปณิธาน ให้ชุมชนมีแหล่งความรู้ที่พร้อมพรั่งสมบูรณ์ ซึ่งจะเป็นแบบอย่างของการพัฒนาห้องสมุดสืบต่อไปโดยมีการจัดส่วน บริการและกิจกรรม คือ
1) ห้องอ่านหนังสือทั่วไป
2) มุมเด็กและครอบครัว
3) ห้องเอนกประสงค์
4) ห้องโสตทัศนศึกษา
5) ห้องเฉลิมพระเกียรติ


สาระสำคัญ

วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งมุ่งที่จะกระจายโอกาสทางการศึกษาไปสู่ประชาชนในชนบท ด้วยการจัดตั้งและพัฒนาห้องสมุด ประชาชน อำเภอ ให้เป็นแหล่งความรู้สำหรับประชาชนทุกเพศทุกวัย และเป็นศูนย์กลางสนับสนุนการผลิตและเผยแพร่เอกสารสิ่งพิมพ์ ไปสู่ที่อ่านหนังสือในระดับหมู่บ้านทั้งนี้ โดยได้กำหนดวัตถุประสงค์เฉพาะในการดำเนินการไว้ดังต่อไปนี้
1. พัฒนารูปแบบของห้องสมุดประชาชนอำเภอ เพื่อสนองตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้เป็นตัวอย่างของห้องสมุดในอนาคตที่จะเป็นแหล่งความรู้และศูนย์กลางสนับสนุนเครือข่ายการเรียนรู้ในระดับหมู่บ้าน
2. จัดตั้งห้องสมุดประชาชนอำเภอให้ครบทุกอำเภอ โดยจะคัดเลือกอำเภอที่มีความพร้อมและความจำเป็นเร่งด่วน ดำเนินการจัดตั้งเป็นรุ่นแรกจำนวน 37 แห่ง ในช่วงปี 2534 - 2535 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และทยอยการจัดตั้งในอำเภออื่น จนครบทั่วทั้งประเทศในช่วง ปี 2536 - 2543
3. พัฒนาห้องสมุดประชาชนอำเภอที่จัดตั้งอยู่เดิมแล้วให้มีคุณภาพและมีความพร้อมที่จะให้บริการตามบทบาท และภารกิจของห้องสมุดในอนาคต
4. ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนรณรงค์ส่งเสริมการอ่าน เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เห็นความสำคัญของการอ่าน และการจัดตั้งห้องสมุดประชาชนเพื่อจะได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบในการดำเนินโครงการ และใช้ประโยชน์จากห้องสมุดที่จะจัดตั้งขึ้น



จากวัตถุประสงค์ดังกล่าว กรมการศึกษานอกโรงเรียนจึงมีนโยบายให้ห้องสมุดประชาชนทุกประเภท ซึ่งรวมทั้งห้องสมุดประชาชน เฉลิมราชกุมารีด้วยมีกิจกรรมหลักดังนี้
1. ศูนย์ข้อมูลข่าวสารชุมชน มีกิจกรรมที่จัดในลักษณะดังนี้
1) ด้านส่งเสริมการอ่านและการค้นคว้า เช่น การประกวดการอ่าน การจัดนิทรรศการ การเล่านิทาน การเล่าเรื่องจากหนังสือ การประกวดยอดนักอ่าน การโต้วาที การปาฐกถา เป็นต้น
2) ด้านการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การอภิปราย การบรรยาย การศึกษาดูงานใน ท้องถิ่น การรวบรวมผลงานของภูมิปัญญาในท้องถิ่น เป็นต้น
3) ด้านห้องสมุดเคลื่อนที่สู่ชุมชน เช่น การนำย่าม ถุง กระเป๋า หีบ เรือ รถยนต์ รถไฟเคลื่อนไปตามชุมชน จัดหาหนังสือไปบริการตามจุดหรือหน่วยงานสำคัญ เช่น เรือนจำ โรงงาน บ้านพักคนชรา โรงพยาบาล เป็นต้น
4) ด้านส่งเสริมการรวมกลุ่มประชาชนตามความรู้และความสนใจ เช่น กลุ่มสนใจ กลุ่มวิชาชีพ ชมรมต่าง ๆ เช่น ชมรมนักอ่าน ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชมรมสมุนไพร การแข่งขันกีฬา เป็นต้น
5) ด้านครอบครัวสัมพันธ์ เช่น จัดให้มีสนามเด็กเล่น จัดมุมเด็กและมุมครอบครัว จัด ตามวันสำคัญ ๆ เช่น วันพ่อ วันแม่ วันครอบครัว วันตรวจสุขภาพ เป็นต้น


2. ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ของชุมชน มีกิจกรรมที่จัดในลักษณะ ดังนี้ ;
1) ด้านแนะแนวการศึกษานอกโรงเรียน เช่น แนะแนวการศึกษาอาชีพ ทำเนียบตลาดแรงงาน แหล่งทรัพยากร จัดป้ายนิเทศ ตลาดนัดทัวร์อาชีพ ศึกษาดูงาน เป็นต้นงาน
2) ด้านจัดและให้บริการชุดทดลอง ชุดสาธิตต่าง ๆ เช่น สาธิตการทดลองนวัตกรรม ใหม่ ๆ เช่น เครื่องดักยุง ระบบน้ำหยด การทดสอบความชื้นของข้าว การทดลองความเป็นกรดเป็นด่างของดิน เป็นต้น
3) ด้านจัดพื้นที่สำหรับบริการตามหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนของสถาบันต่าง ๆ เช่น จัดมุมทางไกล ตนเอง ชั้นเรียน มุม มสธ. มุม มร. เป็นต้น


3. ศูนย์กลางการจัดกิจกรรมของชุมชน หรือเป็นศูนย์ประชาคม มีกิจกรรมที่จัดในลักษณะ ดังนี้
1) บริการสถานที่จัดประชุม สัมมนา การแสดงผลิตภัณฑ์ เช่น การจัดประชุมสมาชิกชมรม สมาคม และแสดงกิจกรรมชมรม จัดมุมแสดงสินค้าพื้นเมือง จัดแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน การแต่งงาน เป็นต้น
2) กิจกรรมเด็กและครอบครัว เช่น วันเด็ก วันแม่ วันพ่อ การบรรยายเกี่ยวกับเด็กและครอบครัว เป็นต้น
3) กิจกรรมอเนกประสงค์ของชุมชน เช่น ศิลปวัฒนธรรม การแต่งงาน การดำเนินการเชิงธุรกิจ สนามเด็กเล่น เป็นต้น


4. พัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ในชุมชน มีกิจกรรมที่จัดในลักษณะ ดังนี้
1) ด้านข้อมูลข่าวสารและสื่อ เช่น การหมุนเวียนสื่อสารนิเทศไปยังห้องสมุดโรงเรียน ที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน ศูนย์การเรียน และแหล่งความรู้ในชุมชนใกล้เคียง เป็นต้น
2) ด้านการพัฒนา การผลิต เผยแพร่ และฝึกอบรม เช่น ผลิตเอกสาร แผ่นปลิว อบรมพัฒนาบุคลากร ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานเพื่อที่จะให้การเผยแพร่สื่อสารนิเทศ สู่เครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

จากวัตถุประสงค์ทั้ง 4 ข้อดังกล่าว กรมการศึกษานอกโรงเรียน จัด เพื่อให้ประชาชนในชุมชนทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับการศึกษา ทุกอาชีพ ได้รับการศึกษานอกโรงเรียนจากการจัดบริการและกิจกรรมห้องสมุด เพื่อใช้ในการปรับปรุงอาชีพ ความเป็นอยู่ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น เป็นการศึกษาตามอัธยาศัยที่ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาในระบบและนอกระบบโรงเรียนอีกส่วนหนึ่งด้วย

บทสรุป ห้องสมุดประชาชน "เฉลิมราชกุมารี" เป็นห้องสมุดประชาชนที่อยู่ในการกำกับดูแลของกรมการศึกษานอกโรงเรียนจัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสที่มีพระชนมายุ 36 พรรษา พ.ศ. 2534 เพื่อเป็นแหล่งสรรพความรู้ต่าง ๆ ที่สมบูรณ์ของประชาชนในท้องถิ่น ทั้งการเป็นศูนย์ข้อมูล ข่าวสารชุมชน ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ของชุมชนศูนย์กลางการจัดกิจกรรมของชุมชน และเป็นแหล่งพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ในชุมชน